วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559

๒๐๓ ลักษณะที่ ๓ :แปลง อ ท้าย มน เป็น โอ เมื่ออยู่ท่ามกลางสมาสและตัทธิต

#ปทรูปสิทธิสังเขป๒๐๓
นามศัพท์ : ระบบการสร้างรูปคำนาม ในมโนคณศัพท์

ได้กล่าวถึงลักษณะของมโนคณะไปถึง ๒ ประการแล้ว โดยอาศัยสูตรที่ท่านแสดงกำกับไว้ กล่าวคือ มีการแปลง นา เป็น อา ส เป็น โอ และ สฺมิํ เป็น อิ และมีการลง สอาคม ทั้งสามวิภัตติ อาจกล่าวได้ว่า แปลง นา เป็น สา, ส เป็น โส และ สฺมิํ เป็น สิ เพื่อกำหนดได้ง่าย แต่ถ้ายึดหลักการที่ถูกต้อง ก็ต้องคำนึงกฏเกณฑ์ตามลำดับที่แสดงไว้
ในลักษณะที่ ๓ คือ การแปลง อ ของ มน เป็น โอ เมื่ออยู่ท่ามกลางสมาสและตัทธิต  ไม่ปรากฏวิธีการในนามกัณฑ์ แต่มีในพยัญชนสนธิ ซึ่งได้เคยแสดงไปแล้ว ท่านทั้งหลายอาจไม่ทันได้กำหนด ใคร่จะทบทวนอีกสักที
อ้างถึง #ปทรูปสิทธิสังเขป๗๙

๕) วิธีการเชื่อมสระในเพราะพยัญชนะ แบบ “อาคม”
แปลงสระท้ายศัพท์มี มน เป็นต้น เป็น โอ ในกรณีที่ มน เป็นสมาส กับ ศัพท์หลัง เป็นต้น

กรณีนี้เป็นพิเศษ เพราะเกี่ยวกับโอเหมือนกัน อาศัยการดำเนินเรื่องติดต่อกัน จึงจัดวิธีการนี้แม้เป็นวิธีการของนามศัพท์สมาสและตัทธิต (วิธีการที่เกี่ยวกับคำนาม คือ จัดลิงค์ และ ลงวิภัตติเป็นต้นและ สมาส คือ การนำคำนามสองคำขึ้นมาย่อเข้าด้วยกันได้ความหมายใหม่ขึ้นมา ตัทธิต การใช้กลุ่มอักษรที่เรียกว่า ปัจจัย ใช้แทนความหมายของคำนาม)

หลักการ : สูตรกำกับวิธีการ
๔๘. เอเตสโม โลเป.
 เมื่อลบวิภัตติแล้ว แปลงสระที่สุดแห่งศัพท์มโนคณะเป็นต้นเหล่านั้น เป็น โอ ได้บ้าง.

หลักเกณฑ์ : ขอบเขตของสูตรและอธิบาย 
เมื่อลบวิภัตติของมโนคณะศัพท์เป็นต้นแล้ว ให้แปลง สระที่สุดของศัพท์เหล่านั้น เป็นโอ.

คำว่า วิภัตติที่ลบออกแล้ว คือ วิภัตติที่ลบออกจากศัพท์หน้า คือ มโนคณะศัพท์ที่ตั้งเป็นสมาส หรือตัทธิตนั่นเอง.
ความเป็นจริงแล้ว วิธีอย่างนี้เป็นวิธีของสมาสและตัทธิตทีมีการลบวิภัตติ แต่ที่จัดไว้ในที่นี้เพราะมีสภาพเหมือนกับพยัญชนะสนธิ ในแง่ที่ว่า มีการอาเทศ สระเป็นโอ และมีพยัญชนะเป็นนิมิตนั่นเอง.

 หลักการใช้ :  อุทาหรณ์ของสูตร
๑) มน ใจ + มยํ ทำแล้ว = มโนมยํ ทำแล้วด้วยใจ (หรือจะมองว่า มโนมยํ มาจาก มน + มยํ)

ในตัวอย่างนี้ มโนมยํ แปลว่า ทำแล้วด้วยใจ.  ในที่นี้ คำว่า มย จัดเป็น ปัจจัยในตัทธิตใช้แทนคำศัพท์ว่า ปกต ที่แปลว่า ทำแล้ว, สำเร็จแล้ว.  เมื่อนำคำว่า มย มาประกอบกับ คำว่า มน ที่เป็นบทนาม (ซึ่งบทนามนี้ จะต้องประกอบด้วยวิภัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในวิภัตติทั้ง ๗ เพื่อกำหนดหน้าที่ของคำนามในประโยค ความโดยพิสดารจักมาในนามกัณฑ์ ตอนนี้รับทราบแค่นี้ก่อนครับ). สำหรับตัวอย่างนี้ มน ประกอบด้วย นา ตติยาวิภัตติ ให้แปลว่า "ด้วย"  สำเร็จรูปคำตามกระบวนสร้างรูปคำของคำนามตามลำดับเป็น
"มนสามยํ"

มโนมยํ = มนสา ด้วยใจ + มยํ (= ปกตํ) ทำแล้ว = ทำแล้วด้วยใจ
ลบนา (แปลงเป็น สา) วิภัตติ  = มน + มยํ (ตามสูตรของกระบวนการสร้างรูปแบบตัทธิต)
แปลงสระที่สุดของ มน คือ อ เป็น โอ ด้วยสูตรนี้ (เอเตสโม โลเป) = มโน + มยํ
สำเร็จรูปเป็น มโนมยํ.

๒) ตโมนุโท ผู้กำจัดซึ่งความมืด มาจาก ตมํ = ซึ่งความมืด + นุโท = ผู้กำจัด
ลบ อํ วิภัตติ  = ตม + นุโท (ตามขั้นตอนของกระบวนการสร้างรูปแบบสมาส)
แปลงสระที่สุดของ ตม คือ  อ เป็น โอ ด้วยสูตนี้ (เอเตสโม โลเป) = ตโม + นุโท 
สำเร็จรูปเป็น ตโมนุโท.

ตัวอย่างอื่นๆ
มโนเสฏฺฐา (ธมฺมา) = มโน ใจ + เสฏฺฐา ประเสริฐสุด (ธรรมท.) มีใจประเสริฐสุด
อโยมยํ  อยสา ด้วยเหล็ก + มยํ (= ปกตํ) ทำแล้ว ทำแล้วจากเหล็ก (สำเร็จด้วยเหล็ก)
เตโชกสิณํ  = เตโช คือไฟ + กสิณํ กสิณ = กสิณ คือ ไฟ.
อโหรตฺตํ อโห วัน + รตฺตํ คืน = วันและคืน
ตโปธโน ตโป คือ ตบะ + ธนํ ทรัพย์ = ทรัพย์ คือ ตบะ
สิโรรุโห สิเร บนศีรษะ + รุโห อวัยวะที่งอกขึ้น = อวัยวะที่งอกขึ้นบนศีรษะ
รโชชลฺลํ รโช คือ ฝุ่น + ชลฺลํ สิ่งสกปรก = สิ่งสกปรกคือฝุ่น
รโหคโต รเห ในที่ลับ + คโต ผู้ไปแล้ว (อยู่) = ผู้ไปแล้วในที่ลับ.

*** หมายเหตุ  ***

เกี่ยวกับการสำเร็จรูปเป็น มโนมยํ ที่ไม่ได้แสดงวิธีการทำตัวโดยละเอียดในที่นี้ เพราะทำให้นักศึกษาหนักเกินไป จะขอกล่าวรายละเอียดในตอนที่เรียนเรื่องนาม สมาส และตัทธิตอีกครั้งหนึ่ง ในสูตรนี้ให้กำหนดแต่เพียงเท่านี้ว่า ให้ลง โอ อาคม ได้หลังจากมโนคณะศัพท์เป็นต้น ในการสำเร็จรูปของบทสมาสและตัทธิต.

 ข้อยกเว้น
ในบางอุทาหรณ์ ห้ามแปลงสระที่สุด เป็น โอ เช่น
มนมตฺเตน ด้วยใจเท่านั้น มนสา ใจ + มตฺเตน เท่านั้น
มนจฺฉฏฺฐานํ มีใจเป็นที่ ๖ (มโน ใจ + ฉฏฐานํ เป็นที ๖)
อยกปลฺลํ, กระเบื้องเหล็ก,หม้อเหล็ก อยสา ทำด้วยเหล็ก + กปลฺลํ กระเบื้อง,หม้อ
ตมวิโนทโน, ตมํ ซึ่งความมืด + วิโนทโน ผู้ขจัด
มนอายตนํ มนํ คือใจ อายตนํ อายตนะ = อายตนะคือใจ

ตัวอย่างเหล่านี้ ในพระบาฬี กล่าวคือ สถานที่มาของคำศัพท์เหล่านี้ ใช้โดยไม่แปลงสระที่สุดเป็น โอ ตามหลักการนี้ ดังนั้น อุทาหรณ์เหล่านี้ จึงเป็นวิธีการที่พ้นกฏเกณฑ์ เรียกว่า อสันตวิธี ไม่มีในสูตรนี้.

ท่านทั้งหลายโปรดทราบว่า วิธีการไวยากรณ์ ท่านเรียกว่า เป็นวิธีการโดยส่วนมาก จะมีการยกเว้นอยู่บ่อยๆ มีคำกล่าวว่า “ไวยากรณ์ เหมือนแก้มของนักเป่าปี ที่พองบ้าง ยุบบ้าง”

จบ พยัญชนสนธิ
จบ มโนคณะศัพท์.

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น