วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ปทรูปสิทธิสังเขป๒๐๕

#ปทรูปสิทธิสังเขป๒๐๕
นามศัพท์ : ระบบการสร้างรูปคำนาม ในมโนคณาทิคณศัพท์

วันนี้ใคร่ขอออกนอกคัมภีร์ปทรูปสิทธิสักครั้ง ไปฟังมติของคัมภีร์สัททนีติสักหน่อยหนึ่ง
คัมภีร์ปทรูปสิทธิ แสดงเฉพาะวิธีการของมโนคณ เท่านั้นไว้ให้เป็นพื้นฐานของการสังเกตกลุ่มศัพท์นี้ ดังนั้น ท่านจึงไม่ได้แสดงถึงศัพท์ในมโนคณาทิคณะไว้. อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงมโนคณะและมโนคณาทิคณะแล้ว ยังมีกลุ่มศัพท์อื่นๆ ที่คล้ายคลึงกับมโนคณะนั้นอีก. คัมภีร์สัททนีติ ปทมาลา เรียกกลุ่มศัพท์เหล่านั้นว่า “อมโนคณ”.  ในคราวนี้จะนำอมโนคณศัพท์มาแสดงไว้ เพื่อเพิ่มพูนความเป็นผู้รอบรู้ให้แก่นักศึกษาโดยสรุป.  ท่านที่สนใจรายละเอียดให้ไปค้นคว้าเพิ่มเติมได้ในคัมภีร์สัททนีติ ปทมาลา.

อมโนคณะ
          สัททนีติยังแสดงศัพท์ที่นอกเหนือไปจากมโนคณาทิคณะอีกคณะหนึ่ง คือ อมโนคณะ คือ กลุ่มศัพท์ที่ไม่ใช่มโนคณะ ซึ่งมีอยู่ ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
          ๑. อมโนคณะ ที่มีลักษณะพิเศษในการแปลงบางวิภัตติเช่นกัน แต่ไม่เหมือนกับมโนคณะศัพท์ กลุ่มนี้มีอยู่ ๒ ประเภท คือ
                    ๑). กลุ่มศัพท์ อ การันต์ที่มีการแจกตติยาวิภัตติ โดยเอา นา วิภัตติเป็น โส ได้ เช่นอตฺถ อรรถ, พฺยญฺชน พยัญชนะ,  อกฺขร อักษร, สุตฺต สูตร, อุปาย ช่อง, สพฺพ ทั้งหมด, ฐาน ฐานะ เป็น อตฺถโส, พฺยญฺชนโส, อกฺขรโส, สุตฺตโส, อุปายโส, สพฺพโส, ฐานโส เป็นต้น.
                    ๒). กลุ่มศัพท์ อ การันต์ ที่มีการแจกปัญจมีวิภัตติ โดยเอา สฺมา วิภัตติเป็น โส ได้ เช่น ทีฆ ยาว, โอร ฝั่งนี้ เป็น ทีฆโส จากด้านยาว, โอรโส จากฝั่งนี้ เป็นต้น.
          ทั้งนี้ในกัจจายนะและสัททนีติก็แสดงสูตรที่เกี่ยวกับการแปลงนา ตติยาวิภัตติ[1]และ สฺมา ปญฺจมี วิภัตติ เป็น โส [2] ไว้ แต่ในที่นี้จะไม่นำสูตรเหล่านั้นมาแสดงไว้ เพราะจะเป็นการเยิ่นเย้อไปโดยใช่เหตุ แต่ที่กล่าวถึงในที่นี้เพราะเห็นว่า มีลักษณะคล้ายคลึงกับมโนคณะศัพท์ จึงนำมาแสดงไว้พอเป็นแนวทางในการค้นคว้าของนักศึกษาสืบไป.
          ๒. อมโนคณะ ที่ไม่มีลักษณะของมโนคณะเลย  ได้แก่ กลุ่มศัพท์ที่ไม่มีลักษณะของมโนคณะเลยสักข้อ.  ได้แก่ ปุริสาทิคณะ ราชาทิคณะ คุณวนฺตาทิคณะเป็นต้นนั่นเอง. สำหรับรายละเอียดของกลุ่มศัพท์นี้ ก็จะได้ศึกษากันต่อจากนี้ไป.
จบ มโนคณาทิคณะ.
ขอนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช



[1] กัจจายนสูตรที่ 105 ว่า โส วา และในสัททนีติ สุตตมาลา สุตรที่273 ว่า โส วา ฐาเน หลัง อ การันต์ เอา นา ตติยาวิภัตติเป็น โส ได้บ้าง.
[2] กัจจายสูตรที่ 106 ว่า ทีโฆเรหิ และ ในสัททนีติ สุตตมาลา สูตรที่ 274 ว่า ทีโฆรโต สฺมาสฺส หลังศัพท์ ทีฆ โอร เอา สฺมา ปัญจมีวิภัตติ เป็น โส ได้บ้าง. ซึ่งในทั้ง ๒ สูตรนี้ ท่านแสดงไว้ว่า เป็นได้ ๒ ลิงค์ คือ ปุงลิงค์และนปุงสกลิงค์. ซึ่งมีปทมาลาที่เหมือนกับ อ การันต์ ปุงลิงค์หรือ นปุงสกลิงค์ จะมีที่ต่างกันเฉพาะ ๒ วิภัตตินี้เท่านั้น.