วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

๒๐๑ มนสา ตติยาวิภัตติ

#ปทรูปสิทธิสังเขป๒๐๑
นามศัพท์ : ระบบการสร้างรูปคำนาม ในมโนคณศัพท์
----
๑. มโนคณะ
            มโนคณะ คือ กลุ่มศัพท์ที่มี มนศัพท์ (ใจ) เป็นต้น.  มนศัพท์ ในปทรูปสิทธิแสดงรวมไว้ใน อ การันต์ปุงลิงค์ แล้วแสดงศัพท์พวกนี้ไว้เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ตั้งชื่อว่า มโนคณะ ไม่รวมอยู่ในปุริสาทิคณะ เพราะเหตุว่า ในบางวิภัตติมีการแจกรูปต่างกันกับใน ปุริส ศัพท์.
          มโนคณะ มีลักษณะที่สำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ
          ๑. แปลง นา วิภัตติ เป็น อา, แปลง ส วิภัตติเป็น โอ, แปลง สฺมึ วิภัตติ เป็น อิ จากนั้นมีการลง ส อาคม ในที่อาเทสของวิภัตติเหล่านั้น  เช่น มนสา มนโส มนสิ, วจสา, วจโส วจสิ เป็นต้น.
          ๒. แปลง อํ ทุติยาวิภัตติ  ที่มีอรรถกรรมของกิริยา เป็น โอ เช่น มโน ญตฺวา รู้ใจ, ยโส ลทฺธา น มชฺเชยฺย เมื่อได้ยศแล้วไม่ควรลืมตน เป็นต้น.
          ๓. แปลง อ สระท้ายศัพท์ของมโนคณะศัพท์เป็น โอ กลางบทสมาสและตัทธิต เช่น มโนเสฏฺฐา (มีใจเป็นเลิศ บทสมาส), มโนมยา (สำเร็จแต่ใจ บทตัทธิต), อโยปตฺโต (บาตรเหล็ก ตัทธิต) เป็นต้น.ในกรณีนี้ การสำเร็จรูปเป็น มโนมยา เป็นต้น ได้ด้วยสูตรในพยัญชนสนธิว่า เอเตสโม โลเป เมื่อลบวิภัตติแล้ว แปลงที่สุดของศัพท์มีมโนคณะเป็นต้นนั้นเป็น โอ ได้บ้าง.

          มโนคณะศัพท์ ท่านแสดงไว้ว่า มี ๑๖ ศัพท์ (รวม มน ศัพท์ ด้วย) คือ

มน
ใจ
วจ
ถ้อยคำ
วย
วัย
เตช
ไฟ
ตป
ตบะ
เจต
จิต
ตโม
ความมืด
อห
วัน
อย
เหล็ก
ปย
น้ำนม
ยส
ยศ
รห
ที่ลับ
สิร
ศรีษะ
ฉนฺท
ฉันทะ
สร
สระน้ำ
อุร
อก

           
เกี่ยวกับเรื่องการจัดลิงค์ของมโนคณะนี้ ในคัมภีร์ปทรูปสิทธิ แสดงไว้ใน อ การันต์ ปุงลิงค์. แต่ในคัมภีร์อื่น คือ พาลาวตาร อภิธานัปปทีปิกา สัททนีติ  แสดงว่า เป็นไปได้ทั้งปุงลิงค์และนปุงสกลิงค์. นักศึกษาตรวจดูข้อมูลเหล่านี้ได้ในปทวิจารทีปนี ฉบับแปล หน้าที่ ๓๒๒. แต่ในที่นี้แสดงตามมติของปทรูปสิทธิ จึงแสดงเฉพาะปทมาลาที่เป็นปุงลิงค์เท่านั้น.

----------


มน สทฺทปทมาลา
แสดงกลุ่มคำที่ประกอบวิภัตติของ มน ศัพท์

วิภัตติ
เอกวจนะ
พหุวจนะ
ปฐมา
มโน
มนา
อาลปน
โภ มน
ภวนฺโต มนา
ทุติยา
มนํ มโน
มเน
ตติยา
มเนน มนสา
มเนหิ มเนภิ
จตุตถี
มนโส มนสฺส
มนานํ
ปญฺจมี
มนสฺมา มนมฺหา มนา
มเนหิ มเนภิ
ฉฏฐี
มนโส มนสฺส
มนานํ
สตฺตมี
มนสิ มเน มนสฺมึ มนมฺหิ
มเนสุ

               ใน มน ศัพท์ นี้มีรูปต่างกับปุริสาทิคณะในวิภัตติ เหล่านี้ คือ นา, ส, สฺมึ  และ อํ บางรูป (คือ มโน)   ดังนั้น ในรูปแห่งวิภัตติอื่น นอกจากที่กล่าวมานี้  ก็มีสูตรและวิธีการสำเร็จรูปเช่นเดียวกันกับในปุริส ศัพท์ ก็จะไม่แสดงไว้อีก.  จะแสดงเฉพาะรูปที่แปลกไปเท่านั้น.
         
------

คัมภีร์ปทรูปสิทธิกล่าวถึงวิธีการในรูปว่า มนสา ตติยาวิภัตติ และ มนสิ สัตตมีวิภัตติ  ด้วยหลักการในสูตรนี้

          หลักการ สูตรกำกับวิธีการ
          ๙๕. มโนคณาทิโต สฺมึนานมิอา.
          แปลง สฺมึ และ นา ท้ายศัพท์มโนคณะศัพท์เป็นต้น เป็น อิ และ อา ได้บ้าง

หลักเกณฑ์ ข้อกำหนดของสูตรและคำอธิบายโดยสังเขป
สูตรนี้แสดงให้ทราบว่า เมื่อลง นา และ สฺมึ วิภัตติท้ายนามศัพท์ที่เป็นมโนคณะศัพท์และ ศัพท์อื่น ๆที่มีลักษณะคล้ายกับมโนคณะศัพท์ (กลุ่มศัพท์พวกนี้ ที่เรียกว่า มโนคณาทิคณะศัพท์ จะได้กล่าวต่อจากมโนคณะศัพท์) แล้ว ให้แปลง นา เป็น สระ อา และ แปลง สฺมึ เป็น อิ.  เมื่อแปลงแล้ว ก็จะได้รูปเป็น มนฺ อ + อา, มนฺ อ  + อิ. หลังจากนั้น ก็จะเข้าสูตรต่อไปเพื่อสำเร็จรูปตามปทมาลา.

หลักการ สูตรกำกับวิธีการ
          ๙๖.  ส สเร วาคโม.
          ลง ส อาคมท้ายศัพท์มโนคณะเป็นต้น ในเพราะสระหลังได้บ้างตามอุทาหรณ์

หลักเกณฑ์ ข้อกำหนดของสูตรและคำอธิบายโดยสังเขป
สูตรนี้ แสดงว่า ให้ลง สฺ เป็นอักษรอาคม ท้ายศัพท์มโนคณะเป็นต้น ในเพราะสระหลัง.  จะเห็นได้ว่า ท่านบอกให้ลง สฺ อาคม ในเพราะสระหลัง มิได้ระบุว่าให้ลงในวิภัตติไหนโดยตรง แต่บอกว่า ในเพราะสระหลัง .เมื่อพิจารณาดูว่า ในแต่ละวิภัตติก็ไม่มีสระอยู่เลย นอกจากสระ อา และ อิ ที่แปลงมาจาก นา และ สฺมึ วิภัตติ เท่านั้น. เพราะฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า ลง สฺ อาคมในเพราะสระหลัง คือ อา และ อิ อันเป็นตัวแปลงของตติยาและสัตตมีวิภัตติ นั่นเอง. เมื่อลง สฺ อาคมแล้ว ก็สำเร็จรูปเป็น มนสา มนสิ.
          นอกจากนี้ ด้วยคำว่า ได้บ้าง จึงเป็นอันแสดงว่า ไม่แปลงเป็น อา และ อิ และไม่ลง สฺ อาคม ก็มี เพราะเหตุนั้น รูปคำว่า มโน, มนา,  มนํ, มเนน เป็นต้น จึงมีได้.
ลักษณะเช่นนี้ ท่านเรียกว่า ววัตถิตวิภาสา บอกวิธี ๓ ประการ คือ ๑ วิธีที่แน่นอน คือ ในบางอุทาหรณ์ที่มีปัจจัยในตัทธิตต่อท้าย ต้องแปลงเป็น อา และ อิ และลง ส อาคม แน่นอน เช่น มานสิกํ (มน + ณิก) เป็นต้น. ๒ วิธีที่ไม่แน่นอน คือ บางอุทาหรณ์ ไม่ต้องทำก็ได้ ทำก็ได้ เช่น มนสา มเนน เป็นต้น ๓ ที่จะทำตามสูตรนี้ คือ ลง สฺ อาคม จะต้องมาจากสระที่แปลงมาด้วยสูตรว่า มโนคณาทิโต สฺมึนานมิอา และ สสฺส โจ เท่านั้น มาจากสูตรอื่นไม่ได้ เช่น มโน มาจาก เอา สิ เป็น โอ ด้วยสูตรว่า โส (ไม่เป็น มนโส) .

มนสา ศัพท์เดิมเป็น มน อ การันต์ ปุงลิงค์ ลง นา ตติยาวิภัติ เอกวจนะ
แนวทางการสำเร็จรูป
แสดงรูป
อ้างสูตร
ลง นา ตติยาวิภัตติ ในอรรถแห่งกรณะ
มน + นา
กรเณ ตติยา
หลังมโนคณะเป็นต้น แปลงนา เป็น อา
มน  + อา
มโนคณาทิโต สฺมึนานมิอา
ในเพราะสระหลัง ลง สฺ อาคม
มน + สฺ + อา
ส สเร วาคโม
นำพยัญชนะประกอบสระหลัง
มนสา
นเย ปรํ ยุตฺเต
สำเร็จรูปเป็น มนสา  แปลว่า ด้วยจิต ฯ

วันนี้ศึกษาเพียงรูปในตติยาวิภัตติและสัตตมีวิภัตติก่อน คราวหน้า จะแสดงรูปว่า มนโส ในจตุตถีวิภัตติ และ การแปลงทุติยาวิภัตติในอรรถกรรมของกิริยาเป็น โอ

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช.