วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559

๒๐๐ มโนคณศัพท์และมโนคณาทิคณศัพท์ (๑)

#ปทรูปสิทธิสังเขป๒๐๐
นามศัพท์ : ระบบการสร้างรูปคำนาม ในมโนคณศัพท์
----
นามศัพท์ที่เป็นปุงลิงค์ทั้ง ๕ การันต์ ที่ได้แสดงไปแล้วนั้น เป็นกลุ่มนามศัพท์ที่มีปทมาลาตามการันต์และลิงค์ที่มีกลุ่มศัพท์แจกตามเป็นจำนวนมาก อาจกล่าวได้ว่า เป็นกลุ่มนามศัพท์ใหญ่ ๆ มีรูปที่ปรากฏใช้เป็นส่วนมาก.  อย่างไรก็ตาม ยังมีนามศัพท์ ที่มีปทมาลาเป็นของเฉพาะกลุ่มของตน โดยไม่ทั่วไปแก่ศัพท์อื่นๆ มากนัก.  เหตุที่ศัพท์เหล่านี้เป็นอการันต์บ้าง อุการันต์บ้าง เป็นต้น ดังนั้นคัมภีร์ปทรูปสิทธิจึงจัดอยู่ในการันต์นั้นๆ.   และหนังสือแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ ได้จัดแยกไว้ในกลุ่มศัพท์เล็กน้อย โดยเรียกว่า กติปยศัพท์ เพราะมีปทมาลาใช้เฉพาะกลุ่มศัพท์ของตนอย่างแคบๆเพียงไม่กี่ศัพท์.
แม้จะคัมภีร์ปทรูปสิทธิสงเคราะห์อยู่ใน อการันต์เป็นต้น ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้แสดงไว้ในการันต์นั้นๆ เพราะประสงค์ให้ท่านผู้เริ่มศึกษากำหนดปทมาลาของศัพท์ที่หลักใหญ่ๆก่อน เมื่อจับหลักใหญ่ได้แล้ว ก็จะเข้าใจศัพท์เล็กน้อยเหล่านี้ได้.  นามศัพท์เหล่านั้น มีดังต่อไปนี้

มน, คุณวนฺตุ, หิมวนฺตุ, สติมนฺตุ, คจฺฉนฺต, ภวนฺต, ภทฺทนฺต, สนฺต, ราช, พฺรหฺม อตฺต, สข, อาตุม, ปุม, ยุว, มฆว, อทฺธ,
สา
เหตุ, ชนฺตุ,  สตฺถุ, สกมนฺธาตุ, ปิตุ,
อภิภู,
โค
----
มน เป็นต้น จนถึง อทฺธ เป็นอการรันต์ ท่านแสดงไว้ในกลุ่มศัพท์ อการันต์
สา เป็น อาการันต์ แสดงต่อจาก อการันต์
เหตุ เป็นต้น จนถึง ปิตุ เป็น อุการันต์ ท่านแสดงไว้ในกลุ่มศัพท์ อุการันต์
อภิภู ท่านแสดงไว้ในกลุ่มศัพท์ อูการันต์
โค แสดงไว้ในศัพท์ โอการันต์

มน
คุณวนฺตุ
หิมวนฺตุ
สติมนฺตุ
คจฺฉนฺต
ภวนฺต
ภทฺทนฺต
สนฺต
ราช
พฺรหฺม
อตฺต
สข
อาตุม
ปุม
ยุว
มฆว
อทฺธ
สา
เหตุ
ชนฺตุ
สตฺถุ
สกมนฺธาตุ
ปิตุ
อภิภู,
โค


ข้าพเจ้าจะแสดงวิธีการสำเร็จรูปในกลุ่มศัพท์เหล่านี้ ไปตามลำดับที่คัมภีร์ปทรูปสิทธิเแสดงไว้
          ก่อนจะเข้าสู่ระบบการสร้างรูปคำในกลุ่มศัพท์ต่างๆ ที่เรียกว่า คณศัพท์ จะขอชี้แจงวิธีการจัดกลุ่มนามศัพท์ของคัมภีร์ไวยากรณ์ต่างๆ.
          คณะ ในที่นี้ คืออะไร?  
        คณะ ได้แก่ คือ กลุ่มของศัพท์ที่มีปทมาลา คือ รูปแบบการแจกวิภัตติ เป็นแบบเดียวกัน.
          เมื่อจะยกนามศัพท์ใดในกลุ่มนามศัพท์นั้นขึ้นเป็นประธานโดยกล่าวขึ้นเป็นลำดับแรก กลุ่มนามศัพท์นั้นก็ได้ชื่อตามนามศัพท์นั้น เช่น นามศัพท์ ๑๖ ศัพท์ เหล่านี้คือ
มน, ใจ, วจ, ถ้อยคำ, วย, วัย, เตช, ไฟ ตป, ตบะ, เจต, จิต, ตโม, ความมืด, อห, วัน อย, เหล็ก, ปย, น้ำนม, ยส, ยศ, รห, ที่ลับ สิร, ศรีษะ, ฉนฺท, ฉันทะ, สร, สระน้ำ, อุร, อก
มีปทมาลา เหมือนกัน และท่านแสดงมน ศัพท์เป็นศัพท์ที่ ๑ ดังนั้น กลุ่มนามศัพท์ ๑๖ ศัพท์นี้ เรียกว่า มโนคณศัพท์ กลุ่มนามศัพท์ที่มีมนเป็นประธานโดยกล่าวเป็นลำดับแรก.
คัมภีร์ไวยากรณ์ มีคตินิยมในการจัดศัพท์ที่มีลักษณะเหมือนกันโดยปทมาลาเข้าไว้เป็นกลุ่มเดียว ดังนั้น จะพบว่า คัมภีร์ปทรูปสิทธิได้แบ่งกลุ่มนามศัพท์โดยอาศัยเกณฑ์ดังกล่าวเป็นอีกหลายกลุ่มโดยนัยเดียวกับมโนคณศัพท์ดังกล่าว ดังนี้
๑. มโนคณะ ได้แก่ กลุ่มศัพท์ที่มี มน ศัพท์ (ใจ) เป็นต้น.
๒. มโนคณาทิคณะ ได้แก่ กลุ่มศัพท์ที่มี มโนคณะ ศัพท์ เป็นต้น.
๓. คุณวนฺตาทิคณะ ได้แก่ กลุ่มศัพท์ที่มี คุณวนฺตุ ศัพท์เป็นต้น
๔. คจฺฉนฺตาทิคณะ ได้แก่ กลุ่มศัพท์ที่มี คจฺฉนฺต ศัพท์เป็นต้น
๕. ราชาทิคณะ ได้แก่ กลุ่มศัพท์ที่มี ราช ศัพท์ เป็นต้น
๖. ปุริสาทิคณะ ได้แก่ กลุ่มศัพท์ที่มี ปุริส ศัพท์เป็นต้น[1]
๗. ปุมาทิคณะ ได้แก่ กลุ่มศัพท์ที่มี ปุม ศัพท์เป็นต้น.
๘.  สตฺถาทิคณะ ได้แก่ กลุ่มศัพท์ที่มี สตฺถุ ศัพท์เป็นต้น
๙. จิตฺตาทิคณะ ได้แก กลุ่มศัพท์ที่มี จิตฺต ศัพท์ เป็นต้น
๑๐. รตฺตาทิคณะ ได้แก่ กลุ่มศัพท์ที่มี รตฺติ ศัพท์ เป็นต้น
๑๑. กญฺญาทิคณะ ได้แก่ กลุ่มศัพท์ที่มี กญฺญา ศัพท์ เป็นต้น
๑๒. นทาทิคณะ ได้แก่ กลุ่มศัพท์ที่มี นที ศัพท์ เป็นต้น
๑๓.  คหปตาทิคณะ ได้แก่ กลุ่มศัพท์ที่มี คหปตานี ศัพท์เป็นต้น
ศัพท์ที่จัดไว้เป็นคณะนั้น ก็อาศัยวิธีการสำเร็จรูปและกลุ่มสูตรเดียวกันในปฐมาวิภัตติเป็นส่วนใหญ่[2] กล่าวคือ จะมีรูปเดียวกันในปฐมาวิภัตติ แต่ในวิภัตติอื่น อาจมีที่ต่างกันไป. และในบางคณะก็มีรูปที่เป็นพิเศษไม่เหมือนกับคณะอื่นๆ เช่น มโนคณะศัพท์เป็นต้นซึ่งจะได้แสดงเป็นแต่ละกรณีไป
ในกลุ่มศัพท์ทั้ง ๑๓ กลุ่มนี้ บางกลุ่มได้แสดงไปแล้ว และบางกลุ่มก็เป็นอิตถีลิงค์และนปุงสกลิงค์  ในที่นี้จะได้นำกลุ่มที่ยังไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะในปุงลิงค์มาแสดง.

มโนคณะและมโนคณาทิคณะ
คัมภีร์ปทรูปสิทธินำกลุ่มศัพท์ที่เรียกว่า มโนคณาทิคณะ มาแสดงวิธีการสำเร็จรูปเป็นลำดับแรก.
ท่านทั้งหลายโปรดสังเกต มโนคณะ และมโนคณาทิคณะ ต่างกัน. มโนคณะ หมายถึง กลุ่มศัพท์ ๑๖ ที่มี มน เป็นลำดับแรก. ส่วนมโนคณาทิคณะ หมายถึง กลุ่มศัพท์ที่มีมโนคณะเป็นลำดับแรก. ดังนั้น มโนคณาทิคณะ จึงมีศัพท์ที่มีมากกว่า ๑๖ ศัพท์ เพราะนอกจากศัพท์ทั้ง ๑๖ นั้นแล้ว ยังหมายถึงศัพท์อื่นๆ ที่มีปทมาลาที่คล้ายคลึงกับมโนคณะ นั้นอีกด้วย.

มโนคณาทิคณ มีศัพท์อะไรบ้าง? ท่านรวบรวมไว้ทั้งหมด ๒๘ ศัพท์ คือ
มโนคณะ ๑๖ ศัพท์ ที่มีรูปในทุติยา ตติยา จตุตถี และสัตตมีวิภัตติ เหมือนกัน และศัพท์อื่นที่คล้ายกับมโนคณะนั้น เพราะมีรูปในบางวิภัตติไม่เหมือนกัน และบางวิภัตติเหมือนกันอีก ๑๒ ศัพท์ คือ
พิล  ช่อง, พล  กำลัง, ทม การฝึก, วาห เกวียน,  ชรา ความแก่, ปท บท, มุข  หน้า หรือปาก, ชร โรค, อาป น้ำ, สรท  ปี, ฤดูอับลม, วาย ลม, รช ธุลี.

ข้าพเจ้าจะประมวลลักษณะของมโนคณาทิคณะ หลังจากได้แสดงปทมาลาครบแล้วอีกครั้งหนึ่งว่า มโนคณะ และ ศัพท์อื่นๆ ที่ถูกจัดเข้าในกลุ่มเดียวกับมโนคณะ มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างไร.

          วันนี้หมดเวลา คงได้แต่มาคุยกันในเบื้องต้นเท่านั้น คราวหน้าจะเริ่มต้นแสดงลักษณะของมโนคณะที่โดดเด่นอันเป็นเหตุให้เป็นเครื่องกำหนดมโนคณะและมโนคณาทิคณะ โดยละเอียด กันครับ

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช




[1] นอกจากจะจัดแบบนี้แล้ว ยังสามารถจัดตามการันต์ต่าง ๆ คือ ปุริสาทิคณะ, ทณฺฑฺยาทิคณะ, ภิกฺขาทิคณะ, เป็นต้น
[2] ตามที่ได้แสดงไว้ในคัมภีร์ปทวิจารและปทวิจารทีปนี ฉบับแปลของสถาบันบาลี ฯ หน้าที่ ๓๒๘ เป็นต้นไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น